บทที่ 6



บทที่ 6 
การบรูณาการความรู้  (Integrated  Knowledge )
          I :   การบูรณาการความรู้  (Integrated  Knowledge)  การเชื่อมโยงความรู้ที่เกี่ยวข้องภายในศาสตร์ต่าง ๆ  ของรายวิชาเดียวกันหรือหลากหลายวิชาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง   ในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  (Integrated  learning  Management) เป็นกระบวนการจัดประสบการณ์โดยเชื่อมโยงสาระความรู้ของศาสตร์ต่าง    ที่เกี่ยวข้องให้ผู้เรียนได้รับความรู้  ทักษะ  และเจตคติ
          การบูรณาความรู้หมายถึง  การโยงความรู้  หรือการสร้างความสัมพันธ์และรวมแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวในสถานการณ์ต่างๆ  การบูรณาการทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน  และเป็นความรู้ที่ลุ่มลึกและยั่งยืน  การบูรณาการความรู้เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในยุคที่มีความรู้  ข้อมูล ข่าวสารมาก  การบูรณาการความรู้อาจเขียนเป็นลำดับความสัมพันธ์ได้ดังนี้  เริ่มจาก ข้อมูล (data) สารสนเทศ  (information) ความรู้ (Knowledge)    ปัญญา  (wisdom)  เป้าหมายหลักของการเรียนคือเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งที่ถือว่าสำคัญ
ในหลักสูตรเรียกว่า  หลักสูตรบูรณาการ   (Integrated  Curricula)  โดยนำความคิดหลักในวิชามาสัมพันธ์กันเป็นการเชื่อมโยงในแนวนอน  ระหว่างหัวข้อ  และเนื้อหาต่าง ๆ   ที่เป็นความรู้  ทั้ง 3 ด้าน  ได้แก่  พุทธิพิสัย  ทักษะพิสัย  และจิตพิสัย  และสัมพันธ์กับวิชาอื่น   
แนวการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
          การพัฒนาผู้เรียนตามความสามารถที่แตกต่างกันจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถทุกด้าน ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ (Gardner  อ้างใน  วิชัย  วงษ์ใหญ่ , 2542 :  8-11) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน  ได้นำเสนอทฤษฎีพหุปัญญา  (multiple  intelligence  theory)  สรุปได้ว่า   ผู้เรียนมีความสามารถทั้ง  8  ด้าน คือ  ด้านภาษา  ด้านตรรกและคณิตศาสตร์ ด้านภาพมิติสัมพันธ์  ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  ด้านดนตรี  ด้านมนุษยสัมพันธ์  ด้านการเข้าใจตนเอง  และด้านความเข้าใจสภาพธรรมชาติ   เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือความสามารถในแต่ละด้านของผู้เรียนให้พัฒนาไปให้เต็มศักยภาพของตน
          แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542  มาตร  23 ระบุว่า  การจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการ  ซึ่งวิชัย  วงษ์ใหญ่  (2547 :  2) กล่าวว่า  การบูรณาการ  คือ  การผสมผสานที่กลมกลืนกันอย่างมีคุณภาพ  ระหว่างองค์ประกอบหรือ ปัจจัยต่าง ๆ  ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่มีเป้าหมายตรงกัน เพื่อให้ได้มาสิ่งใหม่หรือสภาพใหม่ที่มีค่าและสมบูรณ์แบบ  ได้ประโยชน์จากการบูรณาการสู่ชีวิตและการเรียนรู้
          การบูรณาการการเรียนรู้ คือ  การเชื่อมโยงระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ  ในหลักสูตร  จะช่วยให้ผู้เรียนตระหนักว่าสิ่งไหนที่ได้เรียนรู้  มีประโยชน์สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง  ลักษณะการเรียนรู้จะจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้หรือเป็นหัวเรื่อง
          หน่วยบูรณาการ  thematic  approach  กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้คือ 
                   -ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความหมาย
                   -เกิดองค์ความรู้  ความคิดแบบองค์รวม  พัฒนาความสามารถการคิด
                   -เห็นความเชื่อมโยง   นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาแบบองค์รวม
                   -เกิดประสบการณ์  นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง  สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม
                   -ผู้เรียนควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง
          วิชัย  วงษ์ใหญ่  (2547 : 4)  กล่าวสรุปได้ว่า  ลักษณะบูรณาการ  4  แบบ  คือ
                   1. การสอดแทรก  (infusion)  การบูรณาการแบบเชื่อมโยงโดยผู้สอนคนเดียว  วิธีการสอดแทรกนี้ผู้สอนวิชาใดวิชาหนึ่งนำวิชาอื่น      มาบูรณาการกับวิชาที่ตนสอนและสามารถเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกับหัวเรื่อง  ชีวิตจริงหรือภาระการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้นมา
                   2. คู่ขนาน (parallel)  วิธีการคู่ขนานผู้สอนหลายคนมาจากหลายวิชามาวางแผนร่วมกัน  เพื่อรวมองค์ประกอบของหัวเรื่อง  (theme)  มโนทัศน์  (concept)  หรือปัญหา  (problem) แล้วผู้สอนแต่ละคน  แต่ละวิชาแยกกันและการกำหนดชิ้นงานขึ้นอยู่กับผู้สอน  ผู้สอนอาจตกลงกันว่าจะยึดเกี่ยวกับหัวเรื่องหรือปัญหาที่กำหนดไว้ร่วมกัน
                   3. พหุวิทยาการ  (multidisciplinary)  วิธีการพหุวิทยาการผู้สอนหลายคนมาจากหลายสาขาวิชามาวางแผนร่วมกันที่จะสอนเกี่ยวกับหัวเรื่อง  (theme)  มโนทัศน์  (concept)  หรือปัญหา  (problem)   และกำหนดภาพรวมของโครงการร่วมกันให้ออกมาเป็นชิ้นงานแบ่งโครงการออกเป็นโครงการย่อย  การบูรณาการในหลายสาขาผู้สอนร่วมกันได้หลายชั่วโมง
                   4. การข้ามวิชาหรือการสอนเป็นทีม  (transdisciplinary)  วิธีการข้ามสอนหรือสอนเป็นทีมผู้สอนแต่ละรายวิชามาว่างแผนร่วมกันในองค์ประกอบของ   หัวเรื่อง  (theme)  มโนทัศน์ (concept)  หรือปัญหา  (problem)  กำหนดเป็นโครงการขึ้นมาและร่วมกันสอนเป็นคณะ
          กรมการวิชาการ  (กองวิจัยทางการศึกษา  กรมวิชาการ ,  2545  :  6-7)  เสนอแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการไว้  ดังนี้
          1. การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว  เป็นการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนหนึ่งคน  มีการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ  กับชีวิตจริง  หรือการเชื่อมโยงสาระและกระบวนการเรียนรู้ภายในกลุ่มสาระต่าง ๆ  เช่น  การอ่าน  การเขียน  คิดคำนวณ  การคิดวิเคราะห์  ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวเรื่องที่กำหนด
          2. การบูรณาแบบคู่ขนาน  เป็นการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนสองคนขึ้นไป ร่วมกันจัดการเรียนการสอน  โดยยึดหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง
          3. การบูรณาแบบสหวิทยาการ  เป็นการจัดการเรียนการสอนจากการนำเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระเชื่อมโยงและจัดการเรียนการสอนร่วมกันในเรื่องเดียวกัน
          4. การบูรณาการแบบโครงการ  เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ครูสอนและนักเรียนร่วมกันสร้างสรรค์โครงการ และการใช้เวลาเรียนต่อเนื่องกันได้หลายชั่วโมง   โดยนำจำนวนชั่งโมงของตาละรายวิชาที่แยกกันอยู่  ที่เคยแยกกันสอน  มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน
          วิชัย  วงษ์ใหญ่  (2547  :  5)  สรุปภาพรวมของรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  วิธีการ  กิจกรรม  การประเมินผล  และผลการเรียนรู้  ไว้ดั้งนี้

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง
          การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  หมายถึง  การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เรียนรู้  โดยพยายามจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้  ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล  สื่อ  และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ  เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และผู้เรียนมีโอกาสนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  แต่การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาได้เองนั้นเป็นเรื่องยาก  ผู้สอนจึงมีหน้าที่เตรียมจัดสถานการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ  นำไปสู่การเรียน  โดยไม่ใช้วิธีบอกความรู้โดยตรง  รวมถึงการแนะนำแนวทางที่จะทำงานให้สำเร็จ  และในขณะที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ  ผู้สอนควรสังเกตการณ์อยู่ด้วย
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่น
          ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของผู้สอนประการหนึ่ง คือ  ผู้สอนเข้าใจว่าการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ต้องจัดโต๊ะเก้าอี้ให้นักเรียนทำงาน โดยไม่เข้าใจว่าการนั่งรวมกลุ่มกันนั้นทำเพื่ออะไร  ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ  เมื่อผู้เรียนจะต้องทำงานร่วมกัน  จึงจัดเก้าอี้ให้นั่งรวมกลุ่ม  ไม่นั่งร่วมกลุ่มแต่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง  ซึ่งรูแบบการจัดการเรียนการสอนประเภทหนึ่งที่ผู้สอนควรศึกษาเป็นแนวทางนำไปใช้เป็นเทคนิค  ในการจัดกิจกรรม  คือ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยผู้เรียนรู้ร่วมกัน  (Cooperative  Learning) 
          วิทยากร  เชียงกูล  (2549)  ได้กล่าวถึงลักษณะการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกัน  เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ  กลุ่มละ  4-5 คน  โดยสมาชิกในกลุ่มมีระดับความสามารถแต่งต่างกัน
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
          ตามความหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริง  คือ  ผู้เรียนต้องมีโอกาสนำความรู้ที่เรียนรู้มาไปใช้ในการดำเนินชีวิต  สิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตจริงจึงต้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน  ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ได้โดยสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนต้องแก้ปัญหาและนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความชำนาญ
          ตัวอย่างวิธีการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน  ผู้สอนควรเป็นผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนทุกคนได้ร่วมกันวางแผน  ดำเนินการตามแผน   และร่วมกันสรุปผลงาน  ผู้เรียนแต่ละคนจะได้เลือกและแสดงความสามารถที่ตนเองถนัด  เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย  จึงสามารถกล่าวขยายความได้ว่า  การเรียนรู้โดยใช้โครงงาน  ซึ่งสามารถทำอย่างต่อเนื่องกันได้  โดยมีประเด็นดังนี้
                   1. ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใดหนึ่งที่ตนเองสนใจ
                   2. ผู้เรียนได้เรียนรู้หรือหาคำตอบด้วยตนเอง  โดยการคิดและปฏิบัติจริง
                   3. วิธีการหาคำตอบมีความหลากหลายจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
                   4. นำข้อมูลหรือข้อความรู้จากการศึกษามาสรุปเป็นคำตอบหรือข้อค้นพบของตนเอง
                   5. มีระยะเวลาในการศึกษาหรือแสวงหาคำตอบพอสมควร
                   6. คำตอบหรือข้อค้นพบเชื่อมโยงต่อการพัฒนาความรู้ต่อไป
                   7. ผู้เรียนมีโอกาสเลือก  วางแผน  และจัดการนำเสนอคำตอบของปัญหาหรือผลการค้นพบด้วยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของตนเอง
การบูรณาการตามตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการศึกษา
          สำนักงาน  คณะกรรมการอุดมศึกษา(2553 หน้า  119-128)  การบูรณาการตามตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการศึกษา มีลักษณะดังนี้  (อ้างถึงใน  สำนักบริการวิชาการและจัดหารายได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร )
          1. การบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน  มีการบูรณาการดังนี้
                   1.1 กรณีที่นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเป็นทีมวิจัยของอาจารย์  โดยอาจารย์มีงานวิจัยในลักษณะชุดโครงการวิจัยที่เป็นร่มใหญ่และงานวิจัยย่อย ๆ  โดยนักศึกษาเข้าเป็นทีมในการวิจัยของอาจารย์ในชุดย่อย ๆ  และมีอาจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการชุดใหญ่   ให้คำแนะนำปรึกษา  ทำให้นักศึกษาเกิดทักษะในกระบวนการทำวิจัย
                   1.2 กรณีที่นักศึกษาปริญญาตรีทำโครงการวิจัย หรืองานสร้างสรรค์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัย  หรืองานสร้างสรรค์ของอาจารย์  เป็นการออกแบบการเรียนการสอนด้วยการมอบหมายงานนักศึกษาในรูปแบบที่เป็นองค์ประกอบงานวิจัย  โดยมีอาจารย์ควบคุมการ  ดำเนินงานเป็นระยะ ๆ 
                   1.3 กรณีที่นักศึกษาทุกระดับ  ปริญญาตรี  โท  และเอก  เข้าฟังการบรรยายหรือสัมมนา  เกี่ยวกับผลความก้าวหน้าในงานวิจัยของอาจารย์คือ  เข้าร่วมการจัดการแสดงงานสร้างสรรค์ของอาจารย์  เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญ
                   1.4 จัดให้มีการประชุมนำเสนอผลงานวิจัยหรือแสดงงานสร้างสรรค์ของนักศึกษา หรือส่งเสริมนักศึกษาเข้าร่วมประชุมการเสนอผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ระดับชาติและนานาชาติ 
                   1.5 การส่งเสริมให้อาจารย์นำผลลัพธ์ที่เกิดจากการวิจัยไปเป็นส่วนหนึ่ง  ของเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอน หมายถึง   อาจารย์มีผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับรายวิชาที่สอนและนำองค์ความรู้ที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยมาใช้ประกอบการจัดการเรียนการสอน
          2. การบูรณาการงานบริการวิชาการแก่สังคม การบริการวิชาการหมายถึง  กิจกรรมหรือโครงการให้บริการแก่สังคมภายนอกสถาบันหรือเป็นการให้บริการที่จัดในสถาบันแต่ต้องเป็นการจัดให้กับบุคคลภายนอก ประเภทของการบริการวิชาการมีดังนี้  ประเภทให้เปล่าโดยไม่มุ่งเน้นผลกำไร    ในการบูรณาการวิชาการ  แก่สังคม  สามารถดำเนินการได้ดังนี้
                   2.1 การบูรณาการงานบริการทางวิชาการแก่สังคมกับการเรียนการสอนเป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนปกติ  และมีการกำหนดให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้รับจัดทำเป็นโครงการหรือกิจกรรม
                   2.2 การบูรณาการงานการบริการทางวิชาการแก่สังคมกับการวิจัยเป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์  หรือการนำความรู้  และประสบการณ์จากการบริการวิชาการกลับมาพัฒนาต่อยอดความรู้ใหม่โดยผ่านกระบวนการวิจัย
          3. การบูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการเรียนการสอน  สถาบันควรสนับสนุนให้มีการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไปบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน  คือมีการจัดการเรียนการสอนที่นำการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไปผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น