รูปแบบการเรียนรู้ (LEARNING STYLE)

รูปแบบการเรียนรู้ (LEARNING STYLE)




การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา ทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการศึกษาขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในรูปแบบที่เป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อการสอน รวมไปถึงแนวคิดและทฤษฏีต่างๆ ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันนะคะ มีการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้การเรียนรู้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วยอีกคะ
แล้วทราบหรือเปล่าคะว่า Learning Style คืออะไร มีกี่แบบ และสำคัญสำหรับผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรคะ ไปชมกันเลยคะ
Learning Style คือ รูปแบบการเรียนรู้หรือลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่ผู้เรียนแต่ละคนชอบและปฏิบัติเป็นประจำ ในอันที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือการรับรู้ได้ดีที่สุดสำหรับตนเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสการรับรู้ 3 ทาง คือ ทางสายตา หรือ Visual Learner ทางการฟัง/ได้ยิน หรือ Auditory Learner และทางร่างกายและความรู้สึก หรือ Kinesthetic Learner คะ
แล้วทุกท่านทราบหรือไม่ค่ะว่า รูปแบบการเรียนรู้ หรือ Learning style แต่ละแบบเป็นอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และมีคุณลักษณะของผู้เรียนที่มี Learning Style แต่ละแบบเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดตัวคุณเองมี Learning Style แบบไหน ไปชมกันเลยคะ
แบบแรก คือ
ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทตา หรือ Visual Learner ผู้เรียนจะชอบเรียนรู้ จากการได้ดู มองเห็นกริยาท่าทางของผู้สอนหรือสื่อต่างๆ เช่น การอ่าน การดูภาพ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทตา จะมีคุณลักษณะดังนี้คะ เรียนรู้ได้ดี ถ้าใช้สื่อประเภท รูปภาพ แผนภาพ แผนภูมิ แผนที่ แผนผังต่างๆ ภาพวาด การ์ตูน มีการใช้ปากกาเน้นข้อความ ขีดเส้น หรือทำสีสันให้ข้อความที่สำคัญๆ ดูโดดเด่นทำให้จำได้ง่าย พยายามจดบันทึก จดโน้ตย่อ หรืออ่านเอกสารการสอนของผู้สอน วาดภาพหรือเขียนแผนที่ความคิด หรือ Mind Map ก่อนลงมือเขียนรายงาน ใช้สื่อมัลติมีเดีย เช่น วิดีทัศน์ ภาพยนตร์ อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบมากๆ จะช่วยให้จำและเข้าใจได้มากขึ้น และ อ่านหนังสือ หรือ ทำงานในสถานที่เงียบๆ จะช่วยให้มีสมาธิเรียนรู้ได้ดีขึ้นคะ เรียนรู้จากการสาธิต การแสดงที่มีขึ้นตอนชัดเจน จะทำให้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ พยายามสร้างจินตนาการหรือนึกภาพเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจดจำ ผู้สอนที่พบเห็นผู้เรียนที่มีคุณลักษณะเหล่านี้ อาจคาดเดาได้ว่า จะเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทสัมผัสทางตานะคะ ผู้สอนอาจจัดกิจกรรมการสอนที่สอดคล้องกับคุณสมบัติเหล่านี้ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพคะ
รูปแบบการเรียนรู้หรือ Learning Style แบบที่สองก็คือ
ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทหู หรือ Auditory Learner ผู้เรียนกลุ่มนี้ชอบที่จะเรียนรู้จากการได้ฟัง ได้ยิน เช่น การอภิปราย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการฟังผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทหู จะมีคุณลักษณะดังนี้คะ ข้อแรกคือ ชอบการเข้ากลุ่มเพื่อร่วมอภิปราย สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มบ่อยๆ เขียนคำกล่าวรายงานและรายงานหน้าชั้นบ่อยๆ ใช้เครื่องบันทึกเสียงการบรรยายดีกว่าการจดโน้ตย่อ เวลาอ่านหนังสือมักอ่านออกเสียงเพื่อช่วยในการจำได้มากขึ้น หาเทคนิคช่วยจำมากๆ เช่น เขียนคำย่อย หรือวิธีอื่นๆ ที่คิดว่าจะทำให้จำเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้น มักนำเรื่องที่ต้องการจำมาแต่งเป็นเพลง สุดท้าย คะ เล่าเรื่องหรือความคิดของเราให้เพื่อนฟังบ่อยๆ หรือบอกให้เพื่อจดบันทึกตามคำบอกคะ ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทตานะคะ ก็จะมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป จากแบบของผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทหู นะคะ จากคุณลักษณะที่กล่าวไป น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการออกแบบการสอน หรือกิจกรรมการสอนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพกับผู้เรียนคะ
สำหรับรูปแบบการเรียนรู้แบบสุดท้ายเลยนะคะ คือ
ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทเกี่ยวกับการสัมผัส หรือ Kinesthetic Learner ผู้เรียนกลุ่มนี้ชอบเรียนรู้จากการเคลื่อนของไหวของร่างกาย เช่นการสัมผัส การทดลอง การลงมือทำ การเขียน แสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่จะเรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทเกี่ยวกับสัมผัส จะต้องมีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะดังนี้คะ คุณลักษณะแรกนะคะ คือ หยุดพัก เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เวลาเรียนหรือทำงาน ทำงานอื่นๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับการเรียน เช่น การอ่านหนังสือขณะที่ขี่จักรยานบริหารร่างกาย พยายามอ่านหนังสือหรือทำงานในสถานที่เดิม หรือเป็นประจำ จะได้มีสมาธิมากขึ้น อาจจะเคี้ยวหมากฝรั่งไปด้วยขณะทำงานหรืออ่านหนังสือ ใช้ปากกาเน้นข้อความขีดเขียนทับข้อความที่สำคัญขณะอ่านหนังสือ เปิดเพลงเบาๆ ขณะอ่านหนังสือ อ่านหนังสือแบบคร่าวๆ หรือ Skim ก่อน เพื่อทราบแนวคิดของเรื่องก่อนจะลงมืออ่านในรายละเอียด ฝึกปฏิบัติงานที่ต้องทำตามคำสั่งอย่างมีขั้นตอน เช่นงานประดิษฐ์ งานช่าง และสุดท้ายนะคะ คือ ชอบเล่นเกมที่มีสาระและความบันเทิง จะช่วยไม่ให้เบื่อง่ายและสามารถจดจำได้ดีคะ
ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทเกี่ยวกับการสัมผัส ก็จะมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป จากผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาททางตาและหู สิ่งนี้ผู้สอนสามารถสังเกตเห็นได้ และสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มนี้ได้คะ แต่ในในปัจจุบันนะคะนักการศึกษาบางกลุ่ม ได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้ออกเป็น 4 ลักษณะด้วยกันคะ โดยเพิ่มไปอีก 1 รูปแบบ
การเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดี ผ่านการอ่านและการเขียน หรือ Read and Write Learner นะคะ ซึ่งหมายถึงผู้เรียนที่ชอบเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ โดยการอ่านและการเขียนคะ รูปแบบการเรียนรู้มีความสำคัญมากนะคะเพราะว่าจะช่วย ลดเวลาและความพยายามในการศึกษาเนื้อหาและทักษะใดทักษะหนึ่ง หรือทำให้ผู้เรียนทราบถึงวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง และทำให้ผู้เรียนเข้าใจลักษณะการสอบที่ผู้เรียนสามารถทำได้ดี และลักษณะข้อสอบที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมการมากขึ้นคะ แต่ในปัจจุบันนะคะ มีนักการศึกษาระดับโลกเลยนะคะ ได้ทำการศึกษาในเรื่องของรูปแบบการเรียนรู้ หรือ Learning Style ของผู้เรียนคะ
พบว่า การจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนแต่ละคน อาจไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ หรือแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการเรียนรู้นั้นดีที่สุดสำหรับผู้เรียนแต่ละคนคะ แต่กลับพบว่า การจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ทุกรูปแบบนะคะ จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนประสบความสำเร็จ มากกว่าคะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ
คราวนี้เราคงทราบถึงรูปแบบการเรียนรู้แต่ละแบบกันแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น คะ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งต่อไป ผู้สอนควรจะต้องจัดให้มีความยืดหยุ่น ผสมผสาน เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และได้เรียนรู้ในแบบที่ตนเองถนัด เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์การสอนคะ

การจำแนกประเภทของรูปแบบการเรียนรู้ (The categorization of learning style)
ได้มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ ไม่ต่ำกว่า 21 แนวคิด (Moran, 1991) ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 4 แนวคิดซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
1. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของโคล์บ (Kolb's Learning Style Model, 1976)
แนวคิดนี้ได้จำแนกผู้เรียนออกเป็น 4 ประเภท ตามความชอบในการรับรู้ และประมวลข่าวสารข้อมูล ดังนี้
1.1 นักคิดหลายหลากมุมมอง (diverger) เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ดีในงานที่ใช้การจินตนาการ การหยั่งรู้ การมองหลากหลายแง่มุม สามารถสร้างความคิดในแง่มุมต่างๆกัน และรวบรวมข่าวสารข้อมูลจากแหล่งต่างๆหรือที่ต่างแง่มุมเข้าด้วยกันได้ดี และมีความเข้าใจผู้อื่น แต่มีจุดอ่อนที่ตัดสินใจยาก ไม่ค่อยใช้หลักทฤษฎี และระบบทางวิทยาศาสตร์ในการคิด และตัดสินใจ มีความสามารถในการประยุกต์น้อย
1.2 นักคิดสรุปรวม (converger) เป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลแบบสรุปเลือกคำตอบที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งคำตอบ มีความสามารถในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ ไม่ใช้อารมณ์ ประยุกต์แนวความคิดไปสู่การปฏิบัติได้ดี และมีความสามารถในการสร้างแนวคิดใหม่ และทำในเชิงการทดลอง แต่มีจุดอ่อนที่มีขอบเขตความสนใจแคบ และขาดการจินตนาการ
1.3 นักซึมซับ (assimilator) เป็นนักจัดระบบข่าวสารข้อมูล มีความสามารถในการใช้หลักเหตุผล วิเคราะห์ข่าวสารข้อมูล ชอบทำงานที่มีลักษณะเป็นนามธรรม และเชิงปริมาณ งานที่มีลักษณะเป็นระบบ และเชิงวิทยาศาสตร์ และการออกแบบการทดลอง มีการวางแผนอย่างมีระบบ มีจุดอ่อนที่ ไม่ค่อยสนใจที่จะเกี่ยวข้องกับผู้คน และความรู้สึกของผู้อื่น
1.4 นักปรับตัว (accomodator) เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยผ่านประสบการณ์จริง มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆได้ดี มีการหยั่งรู้ (intuition) ชอบแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ชอบงานศิลปะ ชอบงานที่เกี่ยวข้องกับผู้คน มีความสามารถในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามแผน ชอบการเสี่ยง ใช้ข้อเท็จจริงตามสภาพการณ์ปัจจุบัน จุดอ่อนของผู้ที่มีรูปแบบการเรียนแบบนี้คือ วางใจในข้อมูลจากผู้อื่น ไม่ใช้ความสามารถในเชิงวิเคราะห์ของตนเอง ไม่ค่อยมีระบบ และชอบแก้ปัญหาโดยวิธีการลองผิดลองถูก
2. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ Myers-Briggs (Myers, 1978)
แนวคิดนี้แบ่งผู้เรียนตามความชอบของการเรียนรู้โดยมีพื้นฐานความคิดมาจากทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล ยุง (Carl Jung) โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นประเภทดังนี้ (Felder, 1996 ; Griggs, 1991)
2.1 ผู้สนใจสิ่งนอกตัว และผู้สนใจสิ่งในตัว ( extroversion / introversion)
ผู้สนใจสิ่งนอกตัว (extroversion) หมายถึงผู้เรียนที่มุ่งเน้นข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอกของตน และชอบการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีการปฏิสัมพันธ์กัน
ผู้สนใจสิ่งในตัว (introversion) หรือผู้เรียนที่มุ่งเน้นความคิดเกี่ยวกับโลกภายใน ของตน และชอบงานรายบุคคลที่เน้นการใช้การคิดแบบไตร่ตรอง
2.2 การสัมผัส และ การหยั่งรู้ (Sensing / intuition) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามวิธีการให้ได้มาซึ่งความรู้
การสัมผัส (sensing) หมายถึงผู้เรียนที่มุ่งเน้นความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง กฎ และกระบวนการ โดยผ่านการปฏิบัติด้วยประสาทสัมผัส 5
การหยั่งรู้ (intuition) ผู้เรียนที่มุ่งเน้นความรู้ที่มีลักษณะของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ปัญหาที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน และอาศัยการจินตนาการในการให้ได้มาซึ่งความรู้เหล่านี้
2.3 การคิด และการรู้สึก (thinking / feeling) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามลักษณะของกระบวนหาทางเลือกในการตัดสินใจ
การคิด (thinking) หมายถึงผู้เรียนที่รับข้อมูลแล้วคิดตัดสินใจบนฐานของการใช้กฏเกณฑ์ และหลักเหตุผล สามารถทำงานได้ดีในงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิน และแก้ปัญหาที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว
การรู้สึก (feeling) เป็นผู้ที่ตัดสินใจบนฐานของความความรู้สึก ค่านิยมส่วนตัว ค่านิยมของกลุ่ม และสนใจในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้คน เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคล และมักประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม
2.4 การตัดสิน และ การรับรู้ (judging VS perception) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามกระบวนการประมวลข่าวสารข้อมูล
การตัดสิน (judging) หมายถึง ผู้เรียนที่เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลใดๆแล้ว มักจะประมวลข่าวสารด้วยการตัดสิน และสรุปลงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ
การรับรู้ (perception) หมายถึงผู้เรียนที่มีแนวโน้มที่จะพยายามรวบรวมข้อมูลให้มากกว่าที่มีอยู่ และมักจะยืดเวลาการตัดสินใจออกไปเรื่อยๆ
3. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ Dunn และ Dunn และ Price (1991)
Dunn และคณะ ( Dunn et al.,1995) ได้เสนอแนวคิดรูปแบบการเรียนรู้ว่า ตัวแปรที่มีผลทำให้ความสามารถในการรับรู้ และการตอบสนอง ในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันนั้น มีทั้งตัวแปรที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกของบุคคล และสภาพภายในตัวบุคคล ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่
3.1 ตัวแปรสภาพแวดล้อมภายนอก (environmental variable) แต่ละบุคคลมีความชอบ และสามารถเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่แตกต่างกัน ดังนี้
ระดับเสียง บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่เงียบๆ แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่ที่มีเสียงอื่นประกอบบ้าง เช่น เสียงดนตรี หรือเสียงสนทนา
แสง บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่มีแสงสว่างมากๆ แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่มีแสงสลัว
อุณหภูมิ บางคนเรียนชอบ และเรียนรู้ได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมที่มี อุณหภูมิอุ่น ในขณะที่บางคนชอบเรียนในที่มีอากาศค่อนข้างเย็น
ที่นั่ง บางคนเรียนรู้ได้ดีในสถานที่มีการจัดที่นั่งไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่บางคนชอบเรียนในที่จัดที่นั่งตามสบาย
3.2 สภาพทางอารมณ์ (emotional variable) เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่มีมากน้อย ต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ ได้แก่
* แรงจูงใจในการเรียนให้สำเร็จ
* ความเพียร/ความมุ่งมั่นทำงานที่ได้รับมอบหมายในการเรียนให้เสร็จ
* ความรับผิดชอบในตนเองเกี่ยวกับการเรียน
* ความต้องการการบังคับจากสิ่งภายนอกหรือมีการกำหนดทิศทางที่แน่นอน เช่น เวลาที่ผู้สอนกำหนดให้ส่งงาน การหักคะแนนถ้าส่งงานล่าช้า หรือ การทำสัญญา เป็นต้น
3.3 ความต้องการทางสังคม (sociological variable) แต่ละบุคคลมีความต้องการทางสังคมในสภาพของการเรียนรู้แตกต่างกันได้แก่
ขนาดกลุ่มเรียน บางคนชอบเรียนคนเดียว จับคู่กับเพื่อน เรียนเป็นกลุ่มเล็ก หรือเรียนกลุ่มใหญ่
ลักษณะผู้ร่วมงาน บางคนชอบทำงานร่วมกับผู้ที่มีลักษณะมีอำนาจ ในขณะที่บางคนชอบทำงานร่วมกับผู้ที่มีลักษณะเป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมทำ
ลักษณะกลุ่มเรียน บางคนชอบเรียนรู้จากกลุ่มที่แตกต่างหลายๆกลุ่ม และมีกิจกรรมที่หลากหลาย แต่บางคนชอบเรียนกับกลุ่มประจำ และมีลีกษณะกิจกรรมที่แน่นอน
3.4 ความต้องการทางกายภาพ (physical variable) ได้แก่
ช่องทางการรับรู้ แต่ละบุคคลชอบ และสามารถเรียนรู้ได้ดีโดยผ่านประสาทสัมผัสต่างช่องทางกัน เช่น ผ่านทางการได้ยิน/ฟัง การเห็น การสัมผัส และการเคลื่อนไหว(kinesthetic)
ช่วงเวลาของวัน บางคนเรียนรู้ได้ดีในช่วงเช้าหรือสาย แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในช่วงบ่ายหรือเย็น
การกินระหว่างเรียนหรืออ่านหนังสือ บางคนเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการกิน การเคี้ยว ระหว่างที่มีสมาธิ แต่บางคนจะเรียนรู้ได้ดีต้องหยุดกิจกรรมการกินทุกชนิด
3.5 กระบวนการทางจิตวิทยา (psychological processing) บุคคลมีความแตกต่างกันกระบวนการที่ใช้ในการประมวลข่าวสารข้อมูล ได้แก่
การคิดเชิงวิเคราะห์หรือแบบภาพรวม(analytic/global) บางคนเมื่อรับรู้ข่าวสารข้อมูลแล้ว มักจะใช้กระบวนการวิเคราะห์ในการแยกแยะ เพื่อทำความเข้าใจ ในขณะที่บางคนใช้กระบวนการคิดแบบภาพรวม
ความเด่นของซีกสมอง (hemisphericity) บุคคลมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกใดซีกหนึ่ง ในการประมวลข่าวสารมากกว่าอีกซีกหนึ่ง โดยบางคนมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกซ้ายมากว่าซีกขวา ในขณะที่บางคนมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกขวามากว่าซีกซ้าย
การคิดแบบหุนหันหรือแบบไตร่ตรอง (impulsivity/reflectivity) บางคนมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วหลังจากได้ข้อมูลเพียงย่อๆ แต่บางคนจะมีการใคร่ครวญ พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ
4. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ กราชา และริเอชแมนน์ (Grasha & Riechmann, 1974 )
กราชา และริเอชแมนน์ (Grasha & Riechmann, 1974) ได้เสนอรูปแบบของการเรียนรู้ในลักษณะของความชอบ และทัศนคติของบุคคล ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และเพื่อนในการเรียนทางวิชาการ เป็น 6 แบบ ดังนี้
4.1 แบบมีส่วนร่วม (participant) เป็นผู้เรียนที่สนใจอยากจะรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของรายวิชาที่เรียน อยากเรียน สนุกกับการเรียนในชั้นเรียน และคล้อยตาม และติดตามทิศทางของการเรียนการสอน
4.2 แบบหลีกหนี (Avoidant) เป็นผู้เรียนที่ไม่มีความต้องการที่จะรู้เกี่ยวเนื้อหารายวิชาที่เรียน ไม่ชอบเข้าชั้นเรียน ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ รู้สึกต่อต้านทิศทางของการเรียนการสอน
4.3 แบบร่วมมือ (Collaborative) เป็นผู้เรียนที่ชอบกิจกรรมการเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม และการร่วมมือกัน ชอบการมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้สึกสนุกในการทำงานกลุ่ม
4.4 แบบแข่งขัน (Competitive) เป็นผู้เรียนที่มีลักษณะของการแข่งขัน และยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง สนใจแต่ตนเอง และมีแรงจูงใจในการเรียนจากการได้ชนะผู้อื่น สนุกกับเกม/กีฬาการต่อสู้ ชอบกิจกรรมที่มีการแพ้-ชนะ สนุกในเกมที่เล่นเป็นกลุ่ม
4.5 แบบอิสระ(Independent) เป็นผู้ที่ทำงานด้วยตนเอง สามารถทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ ไวต่อการตอบสนอง/โต้ตอบได้รวดเร็ว และมีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
4.6 แบบพึ่งพา (Dependent) เป็นผู้ที่ต้องอาศัยครูให้คำแนะนำ ต้องการการช่วยเหลือ และแรงจูงใจภายนอก (เช่น คำชม รางวัล) ในการจูงใจให้การเรียน ไม่ค่อยไวในการตอบสนอง/โต้ตอบ มีความกระตือรือร้นในการเรียนไม่มาก และมักจะทำตามความคิดของผู้นำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น