อนุกรมวิธาน




อนุกรมวิธาน (Taxonomy)

       อนุกรมวิธาน (Taxonomy) คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตเป็นหมวดหมู่ (classification) การตรวจสอบหาชื่อวิทยาศาสตร์ (identification) และการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ (nomenclature)
      การจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตในโลก นักอนุกรมวิธานมีความเห็นในการจัดหมวดหมู่แตกต่างกันไป เช่น แบ่งออกเป็น 5 อาณาจักร (kingdom) 6 อาณาจักร  หรือ 8 อาณาจักร  (Campbell, 1996) ซึ่งระบบที่เป็นที่นิยมใช้ในอดีตและปัจจุบันระบบหนึ่งคือระบบ 5 อาณาจักร คือ
1.           อาณาจักรโมเนรา (Kingdom Monera)      ได้แก่ สิ่งมีชีวิตประเภทสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และแบคทีเรีย เป็นต้น
2.           อาณาจักรโปรโตซัว (Kingdom Protista)  ได้แก่ สิ่งมีชีวิตประเภทสาหร่าย (algae)  โปรโตซัว และราเมือก เป็นต้น
3.           อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi)           ได้แก่ สิ่งมีชีวิตประเภทเห็ด รา และยีสต์
4.           อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)             ได้แก่ สิ่งมีชีวิตประเภทพืช
5.           อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)        ได้แก่ สิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์
      ปัจจุบันนักอนุกรมวิธานบางท่านเสนอว่าควรรวมอาณาจักรที่กล่าวข้างต้นออกเป็น 3 โดเมน (Domain) โดยรวมกลุ่มของแบคทีเรียไว้ใน Domain Bacteria และ Domain Archaea สำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นจัดรวมอยู่ใน Domain Eukarya ดังนั้นจึงถือได้ว่าโดเมนเป็นลำดับขั้นที่ใช้ในการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่าอาณาจักร
      การจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตจะกระทำโดยดูจากลักษณะที่เหมือนหรือแตกต่างกันในสิ่งมีชีวิต ซึ่ง สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกันจะถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน และที่มีลักษณะต่างกัน จะอยู่คนละพวก โดยสิ่งมีชีวิตในโดเมนเดียวกันยังสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ลงไปได้อีกจนถึงชนิดย่อย (subspecies) ซึ่งการเรียงลำดับจากกลุ่มใหญ่จนถึงกลุ่มย่อยเป็นดังนี้
โดเมน (Domain)
อาณาจักร (Kingdom)
ไฟลัม (Phylum) (Division)
ชั้น (Class)
อันดับ (Order)
ครอบครัว, วงศ์ (Family)
สกุล (Genus)
ชนิด (Species)
ชนิดย่อย (Subspecies)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น