การบูรณาการ


การบูรณาการ
การบูรณาการ หมายถึง การเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ทุกชนิดที่บรรจุอยู่ในแผนของหลักสูตร เป็นการเชื่อมโยงในแนวนอน ระหว่างหัวข้อ และเนื้อหาต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย การบูรณาการทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรู้ในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง การบูรณาการความรู้เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในยุคที่มีความรู้ ข้อมูล ข่าวสารมาก จึงเกิดหลักสูตรที่เรียกว่า หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curricula) ซึ่งพยายามสร้างหัวเรื่อง (Themes) ในวิชาต่าง ๆ โดยนำความคิดหลักในวิชามาสัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กับวิชาอื่นด้วย
ลักษณะสำคัญของการสอนแบบบูรณาการ
1.เป็นการบูรณาการระหว่างความรู้ กระบวนการ และการปฏิบัติ
2.เป็นการบูรณาการระหว่างวิชาได้อย่างกลมกลืน
3.เป็นการบูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริง
4.เป็นการบูรณาการเพื่อจัดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาต่างๆ 
5.เป็นการบูรณาการให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างความคิดรวบยอดของวิชาต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย

การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
การจัดการเรียนการสอนของผู้สอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท (ตามความเหมาะสม) ดังนี้
            1.การบูรณาการภายในวิชา มีจุดเน้นอยู่ภายในวิชาเดียวกันอาจนำวิชาต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันมาบูรณาการกันเองของวิชานั้นและไม่แยกหรือขยายไปกับวิชาอื่น
            2.การบูรณาการระหว่างวิชา มีจุดเน้นอยู่ที่การนำวิชาอื่นเข้าเชื่อมโยงด้วยกัน ตั้งแต่ 2 วิชาขึ้นไป โดยภายใต้หัวข้อเดียวกันว่าวิชาใดที่สามารถนำเข้ามาบูรณาการด้วยกันได้ ไม่จำเป็นว่าต้องทุกวิชา หรือทุกกลุ่มประสบการณ์เข้าด้วยกัน หรืออาจครบทุกวิชาหรือทุกกลุ่มประสบการณ์ก็ได้
การวางแผนการจัดทำแผนแบบบูรณาการ
            การจัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการ เป็นการนำวิชาการต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างหัวข้อเรื่องที่มีความสอดคล้องกับวิชานั้น ๆ เข้าด้วยกัน ผู้สอนต้องคำนึงสิ่งต่อไปนี้
            1. การเลือกหัวเรื่อง จากประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการเรียน เช่น ประเด็นแนวคิด ประเด็นของเนื้อหา เมื่อได้แล้วนำจุดประสงค์ของแต่ละรายวิชา ที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียน เข้ามาสร้างเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
            2. การนำจุดประสงค์ของรายวิชาต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันมาสร้างเป็นหัวข้อเรื่องและนำมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ


ประโยชน์ของการบูรณาการ
            1. เป็นการนำวิชาหรือศาสตร์ต่าง ๆ เชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อเดียวกัน
            2. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนที่ลึกซึ้ง และมีลักษณะใกล้เคียงกับชีวิตจริง 
            3. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะองค์รวม
            4. ช่วยให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ จากสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว
            5. เป็นแนวทางที่ช่วยให้ครูได้ทำงานร่วมกัน หรือประสานงานร่วมกันอย่างมีความสุข
            6. ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูได้คิดวิธีการหรือนำเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้

การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
            1. ผู้สอนมีความเชื่อมั่นและเข้าใจตรงกันในเรื่องการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
            2. ผู้สอนได้วางแผน ได้คิดกระบวนการเรียนรู้และมีการประเมินผลร่วมกัน
            3. ต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้ผู้เรียนสามารถค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเองและได้ลงมือปฏิบัติจริง
            4. เน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากการนำวิชาต่าง ๆ เชื่อมโยงกันมากกว่าที่จะเกิดจากเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งเท่านั้น
            5. มีการนำข้อมูล ทรัพยากรท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมหรือแบบบูรณาการ

อ้างอิง
ขวัญฤดี เกิดทรัพย์. (2552). การบูรณาการ หมายถึง.  ค้นเมื่อ  4 กุมภาพันธ์ 2555 , จาก 
            http://portal.in.th/inno-tiw/pages/1427.
เลิศชาย ปานมุข. (2551). การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ. ค้นเมื่อ  4 กุมภาพันธ์ 2555 , จาก 
            http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=22.0.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น