มองเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในยุคดิจิทัล


เทคโนโลยีกำเนิดมาจากความรู้ความสามารถของมนุษย์ที่มุ่งหวังนำความรู้จากธรรมชาติวิทยามาคิดค้นและดัดแปลง เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานต่าง ๆ ในแต่ละด้านเพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิต ไม่เว้นแม่แต่ในด้านของการศึกษา วันนี้การศึกษาของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในยุคเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 4.0 มาติดตามกัน

ภาพ การเรียนรู้ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท
ที่มา https://pixabay.com , geralt
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาคืออะไร
          มีแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่งให้ความหมายของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Technology in Education) ในหมายความว่า การนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาใช้กับงานด้านการศึกษา โดยประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการศึกษา เช่น การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้การศึกษาการสอนการเรียนมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน
          ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในระบบการศึกษา เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะช่วยให้การศึกษามีการพัฒนาและเติบโตไปในวงกว้าง ซึ่งมีข้อดีก็คือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำโอกาสทางการศึกษาได้เป็นอย่างมาก โดยสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลความรู้นั่นเอง เทคโนโลยีถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางรากฐานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ตั้งแต่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีแบบต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม
          จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการด้านการศึกษาช่วยส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร และความรู้ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เรียนผู้ศึกษาผ่านเทคโนโลยีด้านคมนาคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสื่อสารทางไกล การศึกษาผ่านทางไกล เป็นต้น
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
          เทคโนโลยีพื้นฐานและใช้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านซอฟต์แวร์ที่มีการสร้างระบบและโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ มาให้ผู้สอนและผู้เรียนได้มีโอกาสถ่ายถอดความรู้ และศึกษาหาความรู้ไปด้วยกัน อีกทั้งความสะดวกสบายจากอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างฮาร์ดแวร์ หรือคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่รับข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และนำเสนอข้อมูลในสิ่งที่เราศึกษาความรู้ ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็วในการศึกษาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์
          นอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ได้จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ทั่วโลก หรือจะติดต่อสื่อสารรับส่งข้อมูลกันได้ ก็คือการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่คุ้นเคยกันก็คือการใช้งานอินเทอร์เน็ต
การศึกษายุคดิจิทัล
          ที่ผ่านมาเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในด้านการศึกษาคือ เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศจากเดิมไปสู่การศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าถึงแหล่งทรัพยากรความรู้และสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน
องค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษา ในยุคดิจิทัล
          องค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษาที่มีมาแต่เดิมคงไม่มีมีการเปลี่ยนแปลง หากเพียงแต่เปลี่ยนมุมมองให้เข้ากับยุคสมัยที่ว่าเป็นยุคแห่งดิจิทัล และก็ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์นั่นเอง ดังนี้
Connectivity
        องค์ประกอบด้านเครื่องคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในแต่ละช่วงปี แท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนคือรูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองการใช้งานและเรียนรู้แห่งยุคดิจิทัล ตามติดมาด้วยโปรแกรมประยุกต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือคุ้นเคยที่เรียกติดปากว่า แอปพลิเคชัน ผ่านเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน
Capacity building
        การสร้างขีดความสามารถการเรียนรู้ของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างได้ผล ดังเห็นได้จากพฤติกรรมผลักดันนโยบายจากผู้บริหารหน่วยงานสถานศึกษา แต่แนวการตอบรับนโยบายของครูผู้สอน ตลอดจนถึงผู้สร้างสื่อและเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิค และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้เรียนนั่นเอง
Content
       สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนศูนย์กลางขององค์ประกอบคือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเนื้อหาอยู่ดี
Culture
       วัฒนธรรมคือองค์ประกอบที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด ในการเรียนการสอนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอนที่ครูพบกับนักเรียน และให้ความรู้ตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน เทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ก็สร้างวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกันในยุคของดิจิทัล นั่นคือ วัฒนธรรมของสังคมออนไลน์ที่ประยุกต์ตามพฤติกรรมของเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปลี่ยนจากการพูดคุยกันในห้องเรียนไปเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
       จากข่าวสารที่เราได้พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลได้เกิดขึ้นแล้ว และจะพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างการเรียนรู้ได้จริง มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ถึงเวลาแล้วที่เราจึงควรเรียนรู้และให้ความสำคัญอยู่อย่างเสมอเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการศึกษา เพื่อก่อให้เกิดพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพในยุคที่เรียกได้ว่า Digital Education


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น